การปักชุดโขน - ละคร พัสตราภรณ์ การแต่งกายละครไทยที่เรียกกันว่า “ยืนเครื่อง” เป็นเครื่องแต่งกายสมัยอยุธยาตอนปลาย นับแต่เครื่องทรงของพระมหากษัตริย์ลงมาจนถึงบริพารทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน จากการค้นคว้าของนายสมภพ จันทรประภา ปรากฏที่มาของชนิดผ้าต่างๆ ที่นำมาใช้สำหรับแต่งกายทั้งเครื่องทรงพระมหากษัตริย์และข้าราชบริพาร ผ้าที่ใช้กันเป็นสามัญในไทย คือ ผ้าฝ้ายทอเองตามพื้นบ้านและยังนิยมผ้าสั่งจากต่างประเทศ นำโดยคนชั้นสูง เพราะเป็นของดีมีค่าและงดงามแพรวพราว เช่น จากเปอร์เซีย อินเดีย จีน ซึ่งเครื่องแบบจากทางราชการมักจะทำจากประเทศอินเดียโดยเฉพาะผ้าที่ใช้สำหรับตัดเป็นเครื่องแต่งกายนั้น จะได้จากแคว้น “คุรชะราษฎร์” ทางตะวันตกของอินเดีย และแคว้น “กุศหราด” ทางตะวันออกของอินเดีย มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามลักษณะของชื่อเมือง อาทิ ผ้าที่ได้จากเมือง “สุรัฐ” เรียก “ผ้าสุหรัด” ผ้าที่ได้จากเมือง “มาสุปิลัทตัม” และเมือง “มาบุดมัมดัด”ในแคว้นกุศหราด เรียก “ผ้ามัดราส” เป็นผ้าทอด้วยฝ้าย ไหม ขนสัตว์ เป็นริ้ว เป็นตา เป็นดอก มีทั้งดอกในตัวและยกดอก เนื้อผ้ามีทั้งละเอียดและหยาบ มีหลายสีสอดสลับและสีต่าง บางชนิดเป็นผ้าโปร่งเรียกตามเนื้อผ้าบ้าง บางชนิดเรียกตามชื่อเมือง ไม่มีกฏเกณฑ์ เช่น
- เรียกตามชนิดวัตถุดิบ ผ้าฝ้าย (ด้าย) ผ้าไหม (แพร) ผ้าด้ายแกมไหม ผ้าทอง (ไหมแกมทอง) ผ้าขนสัตว์ ผ้าอัดลัด ผ้าเข้มขาบ ผ้าโหมด ผ้าตาด ผ้าสักหลาด ผ้าเยียรบับ
ผ้าบางชนิดที่ควรรู้จัก เพราะปัจจุบันยังพอหาได้บ้าง บางชนิดเก็บรักษา ไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ·
ผ้ากระแสง ผ้ากระแสง หรือกรรแสง หมายถึงผ้าสไบ ·
ผ้ากาสา เป็นผ้าดิบเนื้อหยาบ ไม่ได้ย้อมฝาด มีสีหม่นไม่ขาวทีเดียว คำว่า กาสา (Kassar) เป็นคำมลายู แปลว่าหยาบ และในกรมศุภรัตมีพนักงานที่มีชื่อเกี่ยวกับกาสาด้วย เช่น พระศุภรัตนกาษายานุกิจ ขุนสุวรรณกาษา เป็นต้น ·
ผ้ากรองทอง เป็นผ้าที่ถักด้วยแล่งเงินหรือแล่งทอง ถักให้เป็นลวดลายต่อกันเป็นผืน ส่วนมากน่ามาทำเป็นผ้าทรงสะพัก โดยใช้ห่มทับลงไปบนผ้าสไบอีกทีหนึ่ง มักใช้แต่เฉพาะเจ้านายผู้หญิงชั้นสูง มีขนาดกว้างยาวเท่ากับผ้าสไบ ชายผ้าด้านกว้างถักปล่อยเป็นชายครุย ผ้ากรองทองเมื่อต้องการให้มีความงดงามเพิ่มมากขึ้นมักจะนำปีกแมงทับมาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ เหมือนรูปใบไม้ และปักลงไปบนผ้ากรองทองในตำแหน่งที่คิดว่าจะสมมติเป็นลายใบไม้เพราะลายของผ้ากรองทองส่วนมากมีลักษณะคล้ายลายดอกไม้อยู่แล้ว และจะเพิ่มความงามให้มากยิ่งขึ้นอีก ด้วยการปักไหมสีสดๆ ที่ตัดกับสีปีกแมงทับ เช่น สีแดง ลงไปบนตัวผ้ากรองทองนั้นเป็นระยะให้เหมาะกับลาย บางทีปักด้วยดิ้นทองเป็นลายก้านแย่ง ·
ผ้ากรอบ เป็นชื่อผ้าชนิดหนึ่งในสมัยสุโขทัย แต่ไม่ทราบว่าเป็นผ้าชนิดใด ·
ผ้ากุหร่า ผ้าสักหลาดสีเทาเจือแดงบางทีอมสีเหลืองใช้ตัดเป็นเสื้อของพวกเกณฑ์หัด ·
ผ้ากุดไตหรือกุฎไต ภาษาฮินดูสถานีว่า Khurti แปลว่าเสื้อกั๊กทหาร ไม่ได้เป็นชื่อผ้า ในภาษา เปอร์เซียว่า กุรตี ·
ผ้ากุศราช เป็นผ้าเนื้อหยาบ ใช้เป็นทั้งผ้าห่มและผ้านุ่งมีทั้งสีขาวและผ้าลาย ทั้งนิยมนำ ไปใช้ห่อพระคัมภีร์เก็บใส่ตู้ลายรดน้ำอีกด้วย เป็นผ้าอินเดียจากแคว้นคุชราช ถ้าเป็นผ้านุ่งอย่างดีมักมีเชิงมีชาย ถ้าเป็นผ้านุ่งชนิดเลวไม่มีเชิงหรือชายชื่อผ้าเป็นการใช้เรียกชื่อเมืองที่ทำผ้าส่งมา ·
ผ้าเกี้ยว ผ้าคาดเอว มีทั้งผ้าลายพิมพ์ ผ้าไหม ฯลฯ ·
ผ้ากำมะหลัด หรือผ้ากำมหลิด เป็นผ้าที่ทอด้วยขนสัตว์แกมไหม ภาษาตะวันออกกลางเรียกว่า Camlet ·
ผ้ากำมะหยี่ ผ้าทอจากขนสัตว์ชนิดหนึ่ง มีหลายสี ·
ผ้าขาวม้า เดิมเรียก ผ้ากำม้า เป็นผ้าฝ้ายผืนยาวทอเป็นลายตาราง เป็นผ้าประจำตัว ของผู้ชาย ใช้เป็นผ้านุ่ง ผ้าเช็ดตัว ผ้าเคียนพุง และผ้าพาดไหล่ ·
ผ้าเข้มขาบ ผ้าทอด้วยไหมทอง คือ เอาเงินแผ่บางกะไหล่ทอง แล้วหุ้มเส้นไหมกับไหม เสียกเป็นลายริ้ว เป็นลายทองกับลายพื้นเท่ากันและบางทีมีไหมเงินทอแซมด้วย ในภาษาเปอร์เซียมีคำว่า Kimkhab แปลว่า ผ้าทองผ้าเข้มขาบนี้จะเห็นเป็นริ้วเล็กทั้งผืนริ้ว มีขนาดกว้างตั้งแต่ ๑.๕ – ๓ เซนติเมตร มีทั้งริ้วสีทองพื้นๆ กับริ้วที่มีพื้นสีเข้มๆ เช่น สีน้ำเงินอมเขียว สีชมพูอมแดง แล้วยกดอกด้วยริ้วด้วยลายเครือเถา แต่ละแนวริ้วเดินด้วยเส้นไหมสีทอง มีลักษณะลายคือผ้าเข้มขาบลายดอกสะเทิน ผ้าเข้มขาบลายก้านแย่ง และผ้าเข้มขาบริ้วขอ ในภาษาเปอร์เซียมีคำว่าKimkhaw หมายถึง ผ้าไหมยกดอกหลายสี ·
ผ้าโขมพักตร์ ผ้าทอจากป่านเปลือกไม้หรือฝ้ายเนื้อค่อนข้างละเอียด คงตรงกับผ้าลินินใน สมัยนั้น มักใช้ปูลาด ทำม่าน บางทีพวกแขกใช้โพกศีรษะ ·
ผ้าเขียนทอง ผ้าพิมพ์อย่างดี เน้นลวดลาย เพิ่มความสวยงามด้วยการเขียนเส้นทองตาม ขอบลาย ลายผ้าเข้าใจว่าไทยจะออกแบบลายเองจึงเห็นเป็นลายตามกระบวนลายไทย ในผ้าผืนหนึ่งๆ จะแบ่งลายออกเป็นส่วนๆ คือ ท้องผ้า ขอบผ้า และเชิงผ้า ซึ่งมีองค์ประกอบของลายผ้าที่จัดวางไว้อย่างเหมาะสม เช่น ขอบสุดริมผ้าหรือชายผ้าใช้ลายกรวยเชิง ถัดเข้ามาเป็นลายดอกไม้ห้ากลีบเถา ในแนวลายประจำยามก้ามปู ขนาบด้วยลายไข่ปลาแนวคู่ ส่วนท้องผ้าลายเล็กๆ สีน้ำเงินตัดเส้นด้วยสีทองในแนวลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่งตลอดผืน หรือบางผืนแบ่งลายเชิงผ้าเป็นรูปเทพนมสลับกับเทพรำแวดล้อมด้ายลายเปลวในแนวลายประจำยามก้ามปูขนาบด้วยลายเครือเถาเส้นคู่ส่วนท้องผ้าเขียนลายเทพรำก้านแย่งดังนี้เป็นต้น ผ้าเขียนทองนี้ปรากฏหลักฐานในสมัยรัชกาลที่ ๑ และมีระเบียบว่าใช้ได้เฉพาะพระมหากษัตริย์ลงมาถึงชั้นพระองค์เจ้าโดยกำเนิดเท่านั้น ผ้าคากรอง เป็นผ้าทอจากใยไม้ พวกนักพรตสมัยก่อนนิยมใช้ ·
ผ้าตาด ผ้าทอด้วยทองแล่งกับไหมสี ทองแล่งหมายถึง แผ่นเงินกะไหล่ทองตัดแล่งออกเป็นเส้น อย่างเดียวกับเส้นดอก เมื่อทอไม่มีลวดลายใดๆ เป็นสีพื้นทองเรียกว่า “ตาดทอง” ในภาษาเปอร์เซียมีคำว่า Tash แปลว่า ผ้าทอง ผ้าตาดนี้ถ้าทอยกเป็นลวดลายก็มีชื่อเรียก ตามลายอีกด้วย เช่น ยกเป็นดอกสีเหลี่ยม เรียกว่า “ตาดตาตั๊กแตน”ยกดอกเป็นลายคดกริซเรียกว่า “ตาดคชกริซ” ถ้าใช้ไหมทองทอกับเงินแล่งที่ไม่ได้กำไหล่ทองเรียกว่า“ตาดขาว” เพราะออกเป็นสีเงินแวววาว ต่อมามีการนำทองแดงมาแทนกะไหล่ทอง กะไหล่เงิน เป็นของทำเทียมของเดิมเรียกว่า “ตาดทองแดง” หรือ “ตาดเยอรมัน” และมีผ้าตาดที่ทอด้วยเงินเรียกว่า “ตาดเงิน”นอกจากนี้ยังมี “ตาดระกำไหม” ซึ้งมีผ้าตาดที่มีไหมมากกว่าแล่งทอง ไม่มีความแวววาวมากนัก และขอบผ้าทั้งสี่ด้านยกลายเป็นดอกสี่กลีบในตัวเรียกกันเป็นลายขนมเปียกปูนต่อเนื่องกัน แต่ละช่วงของลายจะเน้นระยะด้วยดิ้นเงิน ในการเพิ่มความงามของผ้าอาจปักเป็นลวดลายดอกไม้สี่กลีบด้วยไหมก็มี ด้วยดิ้นเงินดิ้นทองก็มี ทั้งตกแต่งลวดลายให้ดูเด่นขึ้น ด้วยสีเขียวของปีกแมงทับ เป็นลายดอกไม้เล็กๆ หรือเป็นช่อ มักใช้ทำเป็นผ้าทรงสะพักในงานพิธีของพวกเจ้านายผู้หญิงชั้นสูง เรียกว่า ผ้าปักปีกแมงทับขนาดของผืนผ้าก็เท่ากับผ้าสไบ การใช้ลวดลายปักประดับบนผ้าตาดนี้มีแบ่งลายเท่าที่ทราบคือ ชายผ้าแบ่งเป็นสองระยะ ชายผ้าลายสุดปักเป็นลายช่อดอกไม้เล็กๆ ๓ ดอกเรียงกัน ถัดมาเป็นลายดอกไม้เรียงกันทีละดอก แต่ละดอกมีลายใบไม้อยู่ทางด้านบนและด้านล่างด้านละ ๓ ใน ต่อไปเป็นลายคั่นก่อนจะถึงตัวลายจริงๆ เป็นลายช่อดอกไม้ช่อใหญ่ วางตำแหน่งดอกใบกานได้อย่างงอกงาม ส่วนริมผ้าด้านยาวมีขอบกว้างประมาณ ๒ นิ้ว ปักลายเครือเถา ผ้าตาดนี้นอกจากใช้ทำผ้าทรงสะพักของเจ้านายผู้หญิงแล้ว อาจใช้ตัดฉลองพระองค์ของเจ้านายผู้ชายอีกด้วย
ผ้าแทฟต้า เป็นผ้าจากเปอร์เซีย เรียกว่า Taftah ภาษาอังกฤษ Taffeta เป้นผ้าบางเบาปัจจุบันยังมีผ้าชนิดนี้นำมาทำเป็นผ้าซับใน เนื้อผ้าคล้ายกับพวกผ้าแพร “โฉว” ของจีน
ผ้านุ่งหยี่ เป็นผ้าลายชนิดหนึ่ง มีทั้งลายเชิงเป็นลายสี บางทีพิมพ์เป็นเชิงทองริ้วคำนี้คงมาจากภาษาเปอร์เซีย ลุงงิ (Lungi) แปลว่าผ้าโสร่งที่ใช้พันไม่ได้เย็บหรือหมายถึงผ้าโพกศีรษะเป็นริ้วมีเชิง ·ผ้าปักไหม เป็นผ้าที่ใช้กันในบรรดาเจ้านายชั้นสูง มีทั้งผ้านุ่ง ผ้าห่มทรงสะพัก ซึ้งใช้ห่มทับสไบ บางครั้งทำเป็นผ้าปูลาด และผ้าห่อเครื่องทรง ส่วนมากใช้ผ้าไหมพื้นเนื้อดี ปักลวดลายด้วยไหมสีต่างๆ ทั้งผืน เป็นลายก้านขดใบเทศง่ายๆ หรือลายดอกไม้หกกลีบด้วยลายกนกใบไม้ สลับกับลายดอกสี่กลีบ หรือลายประจำยามเล็กๆ เชิงผ้าใช้ลายประจำยามก้ามปูสลับกับลายดอกแปดกลีบสองชั้นบ้าง ทำเป็นลายกรวยเชิงช่อใบเทศชั้นเดียวบ้าง การปักไหมนี้ถ้าใช้ไหมสีทองมาก็เรียกว่า ผ้าปักไหมทอง ผ้าปัตหล่า หรือปัตตะหล่า เป็นผ้าริ้วสีเขียวขาบสลับทอง ริ้วเขียวเป็นริ้วทึบ ตรงริ้วทองเป็นริ้วโปร่งท่อโดยวิธีขึงไหมเขียวชิดกัน ขึงไหมทองห่างกัน ริ้วทองเป็นริ้วทองแล่งทอมาจากเมืองปัตตาหล่าในอินเดียว ภาษาอังกฤษเรียกว่า Pataila
ผ้าตาด
ผ้าแทฟต้า
ผ้านุ่งหยี่
๑. ลายหนุน เป็น “ลายไทย” ที่เขียนขึ้นใช้สำหรับงานปักลวดลาย ที่เขียนจะไม่เชื่อมต่อตลอดลาย จะแบ่งลายเป็นตัว ให้ง่ายต่อการปัก และสวยงาม ลายที่นิยมนำมาปัก เช่น ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายหน้าสิงห์ ลายกนกเปลว ลายประจำยาม ลายดอก ลายเถา ข่างเขียนลายจะต้องผูกลายให้เข้ากับแบบของเครื่องละคร เช่น เสื้อ สนับเพลา ห้อยหน้า ห้อยข้าง อินทรธนู กรองคอ รัดสะเอว สุวรรณกระถอบ ผ้าห่มนาง ซึ้งมีรูปแบบแต่งต่างกัน ผู้เขียนลายต้องใช้ความสามารถในการผูกลายให้ดูสวยงาม และสะดวกในการปัก
วิธีที่นิยมใช้ในการปักลายหนุน คือ การปักทึบ เดินเกลียว
- ขึงสะดึง ด้วยผ้า ที่ต้องการปัก ลอกลายลงบนผ้าหรือกระดาษลอกลายเนาลายกับผ้าที่ต้องการปัก
- ล้อมลายด้วยดิ้นข้อ ดัดดิ้นข้อตามลายที่ลอกไว้บนผ้า
- หนุนลายภายในลายที่ล้อมดิ้นข้อไว้ให้นูนสูงเป็นหลังเต่า ด้วยด้ายที่ทำมาจากฝ้าย
- ปักดิ้นโปร่ง หรือดิ้นมัน ดิ้นด้าน ให้เหมาะสมกับลาย
- แต่งลายให้ดูสวยงามยิ่งขึ้น ด้วยเลื่อม ลูกปัก เพชร พลอย เป็นต้น
วิธีที่นิยมใช้ในการปักลายหนุน คือ การปักทึบ เดินเกลียว
- ขึงสะดึง ด้วยผ้า ที่ต้องการปัก ลอกลายลงบนผ้าหรือกระดาษลอกลายเนาลายกับผ้าที่ต้องการปัก
- ล้อมลายด้วยดิ้นข้อ ดัดดิ้นข้อตามลายที่ลอกไว้บนผ้า
- หนุนลายภายในลายที่ล้อมดิ้นข้อไว้ให้นูนสูงเป็นหลังเต่า ด้วยด้ายที่ทำมาจากฝ้าย
- ปักดิ้นโปร่ง หรือดิ้นมัน ดิ้นด้าน ให้เหมาะสมกับลาย
- แต่งลายให้ดูสวยงามยิ่งขึ้น ด้วยเลื่อม ลูกปัก เพชร พลอย เป็นต้น
ok ครับ เนื้อหาที่นำมาลง ควรที่จะอ้างอิงถึงผู้เขียนเดิมไว้ด้วยครับ
ตอบลบความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ
ตอบลบ